วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

วิเคราะห์สาระการเรียนรู้


การวิเคราะห์สาระการเรียนรู้
             การวิเคราะห์สาระการเรียนรู้จะเป็นการจำกัดขอบเขตของเรื่องที่จะนำมาสอนกับเรื่องที่ไม่ต้องนำมาสอน ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในปัจจุบันเนื่องจากหนังสือเรียนบรรจุสาระสนเทศไว้มากเกินกว่าที่จะนำมาสอนอย่างมีประสิทธิผลในระยะเวลาหนึ่งภาคเรียน ควรยึดหลักว่า เพื่อเป็นผลดีต่อ การเรียนรู้จริงๆ ของผู้เรียน สื่อการเรียนรู้ที่จำเป็นถึงแม้ว่าจะน้อยแต่ก็ดีกว่าสื่อการเรียนรู้ขนาดใหญ่ แต่ไม่ได้ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการเรียน
            วิเคราะห์สาระการเรียนรู้ เนื้อหาสาระที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ อจจะแบ่งได้หลายลักษณะ เช่น กาเย่ และบริกส์ (Gagne and Briggs 1974 : 53 - 70) กำหนดสาระการเรียนรู้ ดังนี้ 1)ข้อมูลที่เป็นความรู้ 2) เจตคติ และ 3) ทักษะ ส่วนเดคโค (De Cecco 1968 : 214 – 447 ) แบ่งสาระการเรียนรู้ตามจุดประสงค์เป็น 1) ทักษะ 2) ความรู้ที่เป็นข้อมูลธรรมดา 3) ความคิดรวบยอดและหลักการ และ 4) การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์และการค้นพบ
            การวิเคราะห์เนื้อหาสาระ ควรดำเนินการดังนี้
            ตัดสินใจให้ได้ว่าสารสนเทศใดมีความจำเป็นสูงสุด
            แบ่งออกเป็นมโนทัศน์ย่อย ๆ
           ขอเสนอแนะให้นำโครงสร้างการจำแนกจุดประสงค์การเรียนรู้มาใช้ในการตัดสินใจในการสอน อาทิ การจำแนกจุดมุ่งหมายการศึกษาของ บลูม (Bloom’s Taxonomy)

เพิ่มเติม

 ทฤษฎีการเรียนรู้กาเย่


                    โรเบิร์ต กาเย่ (Robert Gagne) เป็นนักปรัชญาและจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกา (1916-2002) ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการสอน คือ ทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ (Condition of Learning)โดยทฤษฎีการเรียนรู้ของกาเย่จัดอยู่ในกลุ่มผสมผสาน (Gagne’s eclecticism)   ซึ่งเชื่อว่า ความรู้มีหลายประเภท  บางประเภทสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วไม่ต้องใช้ความคิดที่ลึกซึ้งบางประเภทมีความซับซ้อนจำเป็นต้องใช้ความสามารถในขั้นสูง  ทฤษฎีการเรียนรู้ของกาเย่อธิบายว่าการเรียนรู้มีองค์ประกอบ  3  ส่วน  คือ
    ก.หลักการและแนวคิด
                     1)   ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่าง ๆ  ของมนุษย์   ซึ่งมีอยู่  5  ประเภท  คือ
ทักษะทางปัญญา  (Intellectual  skill) ซึ่งประกอบด้วยการจำแนกแยกแยะการสร้างความคิดรวบยอด   การสร้างกฎ   การสร้างกระบวนการหรือกฎชั้นสูง 
                          –  กลวิธีในการเรียนรู้ (Cognitive  strategy)
                          –  ภาษาหรือคำพูด (verbal  information)
                          –  ทักษะการเคลื่อนไหว (motor  skills)
                          –  และเจตคติ (attitude)
            2)    กระบวนการเรียนรู้และจดจำของมนุษย์   มนุษย์มีกระบวนการจัดกระทำข้อมูลในสมอง ซึ่งมนุษย์จะอาศัยข้อมูลที่สะสมไว้มาพิจารณาเลือกจัดกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  และในขณะที่กระบวนการจัดกระทำข้อมูลภายในสมองกำลังเกิดขึ้น   เหตุการณืภายนอกร่างกายมนุษย์มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมหรือการยับยั้งการ เรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในได้  
 ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนกาเย่จึงได้เสนอแนะว่า ควรมีการจัดสภาพการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้แต่ละประเภท ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน  และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ภายในสมอง   โดยการจัดสภาพภายนอกให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียน
     ข.วัตถุประสงค์
                เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ  ได้อย่างดี   รวดเร็ว  และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นาน
     ค.กระบวนการเรียนการสอน              
                กาเย่ได้นำเอาแนวความคิดมาใช้ในการเรียนการสอนโดยยึดหลักการนำเสนอเนื้อหาและจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์   หลักการสอน  9  ประการ  ได้แก่ 
                1.เร่งเร้าความสนใจ (Gain Attention)
กระตุ้นหรือเร้าให้ผู้เรียนเกิดความสนใจกับบทเรียนและเนื้อหาที่จะเรียนการเร้า   ความสนใจ ผู้เรียนนี้อาจทำได้โดย การจัดสภาพแวดล้อมให้ดึงดูดความสนใจ  เช่น  การใช้ภาพกราฟิก  ภาพเคลื่อนไหว และ/หรือการใช้เสียงประกอบบทเรียนในส่วนบทนำ
                2.บอกวัตถุประสงค์ (Specify Objective)
การบอกให้ผู้เรียนทราบถึงจุดประสงค์ของบทเรียนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเรียนการสอนบนเว็บที่ผู้เรียนสามารถควบคุมการเรียนของตนเองได้โดย   การเลือกศึกษาเนื้อหาที่ต้องการศึกษาได้เอง   ดังนั้นการที่ผู้เรียนได้ทราบถึงจุดประสงค์ของบทเรียนล่วงหน้าทำให้ผู้เรียนสามารถมุ่งความสนใจไปที่เนื้อหาบทเรียนที่เกี่ยวข้อง  อีกทั้งยังสามารถเลือกศึกษาเนื้อหาเฉพาะที่ตนยังขาดความเข้าใจที่จะช่วยทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถตรงตามจุดประสงค์ของบทเรียนที่ได้กำหนดไว้
                3.ทบทวนความรู้เดิม (Activate Prior Knowledge)
การทบทวนความรู้เดิมช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาใหม่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้นรูปแบบการทบทวนความรู้เดิมในบทเรียนบนเว็บทำได้หลายวิธี  เช่น  กิจกรรมการถาม-ตอบคำถาม หรือการแบ่งกลุ่มให้ผู้เรียนอภิปรายหรือสรุปเนื้อหาที่ได้เคยเรียนมาแล้ว  เป็นต้น                
                4.นำเสนอเนื้อหาใหม่ (Present New Information)
การนำเสนอบทเรียนบนเว็บสามารถทำได้หลายรูปแบบด้วยกัน  คือ  การนำเสนอด้วยข้อความ รูปภาพ  เสียง   หรือแม้กระทั่ง วีดิทัศน์   อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่ผู้สอนควรให้ความสำคัญก็คือผู้เรียน ผู้สอนควรพิจารณาลักษณะของผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้การนำเสนอบทเรียนเหมาะสมกับผู้เรียนมากที่สุด
                5.ชี้แนะแนวทางการเรียนรู้ (Guide Learning)
การชี้แนวทางการเรียนรู้  หมายถึง  การชี้แนะให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้เรียนใหม่ผสมผสานกับความรู้เก่าที่เคยได้เรียนไปแล้ว   เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็วและมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
                6.กระตุ้นการตอบสนองบทเรียน (Elicit Response)
นักการศึกษาต่างทราบดีว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการที่ผู้เรียนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอนโดยตรง   ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนบนเว็บจึงควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียน  ซึ่งอาจทำได้โดยการจัดกิจกรรมการสนทนาออนไลน์รูปแบบ Synchronous หรือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเว็บบอร์ดในรูปแบบ  Asynchronous  เป็นต้น
                7.ให้ข้อมูลย้อนกลับ (Provide Feedback)
ลักษณะเด่นประการหนึ่งของการเรียนการสอนบนเว็บก็คือการที่ผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เรียนได้โดยตรงอย่างใกล้ชิด   เนื่องจากบทบาทของผู้สอนนั้นเปลี่ยนจากการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แต่เพียงผู้เดียวมาเป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยกำกับการเรียนของผู้เรียนรายบุคคล  และด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อกันได้ตลอดเวลา  ทำให้ผู้สอนสามารถติดตามก้าวหน้าและสามารถให้ผลย้อนกลับแก่ผู้เรียนแต่ละคนได้ด้วยความสะดวก  
                8.ทดสอบความรู้ใหม่ (Assess Performance)
การทดสอบความรู้ความสามารถผู้เรียนเป็นขั้นตอนที่สำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง  เพราะทำให้ทั้งผู้เรียนและผู้สอนได้ทราบถึงระดับความรู้ความเข้าใจที่ผู้เรียนมีต่อเนื้อหาในบทเรียนนั้นๆ  การทดสอบความรู้ในบทเรียนบนเว็บสามารถทำได้หลายรูปแบบ   ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบแบบปรนัยหรืออัตนัย การจัดทำกิจกรรมการอภิปรายกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มย่อยเป็นต้น  ซึ่งการทดสอบนี้ผู้เรียนสามารถทำการทดสอบบนเว็บผ่านระบบเครือข่ายได้
                9.สรุปและนำไปใช้ (Review and Transfer)
การสรุปและนำไปใช้ จัดว่าเป็นส่วนสำคัญในขั้นตอนสุดท้ายที่บทเรียนจะต้องสรุปมโนคติของเนื้อหาเฉพาะประเด็นสำคัญ ๆ   รวมทั้งข้อเสนอแนะต่าง ๆ   เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีโอกาสทบทวนความรู้ของตนเองหลังจากศึกษาเนื้อหาผ่านมาแล้ว   ในขณะเดียวกันบทเรียนต้องชี้แนะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องหรือให้ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม   เพื่อแนะแนวทางให้ผู้เรียนได้ศึกษาต่อในบทเรียนถัดไปหรือนำไปประยุกต์ใช้กับงานอื่นต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ชั้นบรรยากาศ

  บรรยากาศ  (atmosphere)  หมายถึง  อากาศในที่ต่าง ๆ ทั้งหมดซึ่งเป็นส่วนที่ห่อหุ้มโลกอยู่โดยรอบ  จะอยู่สูงจากผิวโลกขึ้นไปประมาณ 800-1,000 กิโ...